ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ร.
5575 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:54:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ร.

ร้อยลิ้นกะลาวน
         เป็นสำนวนคำพังเพยที่ใช้ในทางค่อนว่าหรือกระทบกระเทียบถากถาง ความหมายของสำนวนนี้ก็คือ พูดไม่อยู่กะร่องกะรอย เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ พอๆ กับสำนวน “ร้อยเล่ห์” ซึ่งหมายถึง “ลิ้นตวัดถึงใบหู” (ใครทำได้ก็ต้องลิ้นยาวหลายนิ้วที่เดียว) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามว่า ชอบพูดกลับกลอกตลบตะแลงจนตามไม่ทัน”


รู้อย่างเป็ด
         มีสำนวนที่เทียบเคียงได้อีกสำนวนหนึ่งคือ “รู้งูๆ ปลาๆ” และมีคำขยายอีกสองสำนวนว่า “พูดอย่างเป็ด” และ “เดินอย่างเป็ด” พูดเสียงแหบพร่าเหมือนเป็ดตัวผู้ เหมือนกระซิบกระซาบไม่สดใสน่าฟัง การเดินอย่างเป็ดก็เดินแบบต้วมเตี้ยม เตาะแตะ หมายรวมกันว่า ไม่เก่ง ไม่ชำนาญ เป็นไปไม่ได้ เป็ดมีปากมีปีก มีตีน คล้ายไก่แต่บินไม่ได้อย่างไก่ ไก่ขันเสียงใส แต่เป็ดขันไม่ได้


รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา
         สำนวนคำพังเพยคำนี้ โบราณนำเอาส่วนประกอบของบ้านมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้คนเกิดความคิดที่มองเห็นเป็นรูปธรรมคือจั่ว (หน้าบ้านของบ้านโบราณ) นั้นมีน้ำหนักเบา เหมือนความดี คนทำดี ก็จะพบกับความสุขความเจริญ ส่วนเสานั้นเป็นส่วนหลักของบ้านจะมีน้ำหนักมาก เปรียบเสมือนความชั่วเมื่อคิดทำความชั่วก็เหมือนหามเสา จะต้องมีแต่ความยากลำบาก


รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณนำเอาเรื่องนาฏศิลป์เข้ามาเปรียบเปรย ถือเป็นความหลากหลายทางความคิดอย่างหนึ่ง คือการรำร้องนั้นจะต้องมีดนตรีประกอบ คนร้องคนรำ ทำไม่ถูกทำไม่เป็น แต่ไม่ยอมรับผิด กลับไปโทษว่าดนตรีทำให้เสีย ความหมายของสำนวนคำพังเพยนี้คือ ทั้งที่ตนเองมีความผิด แต่ไม่ยอมรับความผิด จะเรียกว่าเป็นคน “ดื้อตาใส” ก็ได้


รู้ไว้ใช้ว่าใส่บ่าแบกหาม
         โบราณนำคำพังเพยนี้มาเปรียบเทียบให้เห็นว่า วิชาความรู้นั้นมีค่า ดังคำกลอนกล่าวไว้ว่า “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากใจ จึงจะได้สินค้ามา” ดังนั้นวิชาความรู้จึงมีค่า รู้เอาไว้ไม่เสียหลาย เพราะวิชาอยู่ในสมองและความจำไม่ได้แบกหามให้หนักแรงอย่างไร
เรียนผูกต้องเรียนแก้
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณต้องการจะบอกกล่าวให้คนรู้ว่า เมื่อจะทำการใด จะต้องมีการเตรียมรับการเผชิญกับอุปสรรคและวิธีแก้ไขไว้ เพื่อความไม่ประมาท โดยเปรียบเทียบว่างานคือการผูกและปัญหาคือการแก้ ต้องเรียนรู้ทั้งการผูกและการแก้จึงจะประสบความสำเร็จได้


เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่
         โบราณอุปมาด้วยคำพังเพยสำนวนนี้ บอกถึงความเป็นคนที่มาผิดหวังในชีวิตเมื่อตอนแก่ ทั้งๆ ที่ทำดีมาโดยตลอด หรืองานทำมาดีโดยตลอดมาเจออุปสรรคไม่สำเร็จเอาตอนจะเสร็จเช่นเดียวกับคนตาดี อยู่ๆ มาตาบอดเมื่อแก่ ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไปจนกว่าจะตาย หรือเรือ พายเรือแจวมาดีๆ พอมาถึงฝั่งกลับล่มได้ ดังนี้


เรือขาดพาย นายขาดบ่าว
         โบราณยกคำอุปมาได้ชัดเจนเป็นคำพังเพยใช้เตือนใจคนคือเรือนั้นจำต้องมีพายจึงจะแล่นไปได้ หรือนายต้องมีบ่าวรับคำสั่งให้ทำงานๆ จึงจะลุล่วงไปได้ เรือขาดพาย นายขาดบ่าวทุกอย่างก็ลัมเหลว


รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง
         โบราณยกเอานกมาอุปมาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต โดยกล่าวว่า นกนั้นมีปีกและหางช่วยในการบิน ช่วยในการหลบหลีก นั่นก็คือสอนให้รู้จักเอาตัวรอด (ที่มีบทกลอนในนิทานวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ตอนฤาษีสอนสุดสาคร) จึงมีสำนวนอีกสำนวนหนึ่งว่า “รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี”


รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
         โบราณนำถ้อยคำในนิทานสุภาษิตร้อยกรองเป็นคำพังเพยเพื่อจะสอนคนว่า ถ้ารักจะอยู่ด้วยกันนานๆ ก็ต้องตัดความโกรธเกลียดออกไป แต่ถ้าไม่ต้องการจะอยู่กันนานๆ ก็ให้อาฆาตแค้นกันต่อไป บั่น คือการตัดให้สั้น คือตัดตวามโกรธความไม่พอใจออกเสีย ต่อ คือการยืดออกไป หมายถึงการต่ออารมณ์โกรธให้ยาวนาน ความรักความสุขก็จะสิ้นสุดโดยเร็ว


รักพี่เสียดายน้อง
         โบราณนำเอาสำนวนนี้มาเพื่อสร้างเป็นคำพังเพยสอนคนว่า การเป็นคนลังเล ตัดสินใจไม่ถูก ว่าจะเลือกอย่างไรดี ว่าเป็นคนรักพี่เสียดายน้อง สำนวนนี้หมายถึงผู้ชายที่ไปพบพี่น้องที่สวยเหมือนกัน ดีเหมือนกัน จะแต่งกับพี่ก็เสียดายน้องจะแต่งกับน้องก็เสียดายพี่ ผลสุดท้ายเวยไม่ได้ทั้งสองคน (เหมือนเพลงบัวตูมบัวบาน ของพระพรภิรมย์)


รอดปากเหยี่ยวปากกา
         โบราณนำเอาธรรมชาติชีวิตของกาหรือเหยี่ยวที่ล่าสัตว์เล็กเป็นอาหาร เช่น เหยี่ยวชอบล่ากระต่าย กาชอบล่าลูกไก่ ทั้งเหยี่ยวและกาจะใช้วิธีบินโฉบเหยื่ออย่างรวดเร็ว มีน้อยครั้งที่สัตว์เล็กๆ เหล่านี้จะหลุดรอดจากปากเหยี่ยวปากกา เหมือนคนที่พ้นอันตรายมาได้อย่างหวุดหวิด ก็เรียกว่า รอดจากปากเหยี่ยวปากกา